
“รักษ์ปางสีดา” สำนึกรักท้องถิ่นของ “คนสระแก้ว”
ไม่บ่อยครั้งนักที่จะเห็นการรวมตัวของคนในชุมชน เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์สังคมให้น่าอยู่ แต่ด้วยจิตใจที่ “รักธรรมชาติ” พร้อมที่จะเผื่อแผ่ให้คนอื่นได้เข้ามา “รักธรรมชาติ” เช่นเขาบ้าง แม้ว่าทุกคนจะมีหน้าที่และภารกิจแตกต่างกันออกไป นักเรียนก็ต้องไปเรียนหนังสือ นักธุรกิจก็ต้องสนใจทำธุรกิจเพื่อให้ได้เงินทองมาเลี้ยงครอบครัว ข้าราชการ ยังคงต้องทำหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของประชาชน แต่ในสังคมผมเชื่อว่า ยังมีคนอีกมากที่พร้อมจะเข้ามาเป็นอาสาสมัครช่วยเหลืองานสังคมต่างๆ โดยไม่ต้องหวังหน้าตา ชื่อเสียง เงินทอง แต่ทำด้วย “จิตสำนึก”
กลุ่มรักษ์ปางสีดา เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสังคมสระแก้ว ที่ได้มีโอกาสทำตรงนั้นมานานกว่า 10 ปี แต่กว่าที่จะเดินทางมาเหมือนวันนี้ได้ ไม่ง่ายหรอกครับ ระยะเวลาที่ผ่านมา ทำให้เราสามารถพิสูจน์ตัวเองด้วยผลงานและเจตนาที่ดีให้ประชาชนในจังหวัดได้เห็น จนวันนี้ “รักษ์ปางสีดา” ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของคนจังหวัดสระแก้วไปแล้ว
จังหวัดสระแก้ว แม้ว่าจะเป็นจังหวัดใหม่ของประเทศไทย เมื่อ 12 ปีก่อน แต่ก็เพียบพร้อมไปด้วยสิ่งดีดีมากมาย ทั้งธรรมชาติที่สวยงาม ร่องรอยอารยธรรมที่มีอยู่แทบทุกพื้นที่ บ่งบอกถึงประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน ศิลปวัฒนธรรม ทั้ง 5 ชนเผ่าที่อยู่กันอย่างสันติ แต่ยังขาดการนำเสนออย่างเป็นรูปธรรม ให้คนในจังหวัดรู้สึกภูมิใจ พร้อมบอกสู่คนอื่น อาทิเรื่องแหล่งท่องเที่ยว
จะมีบ้างที่รู้จักว่า สถานที่ท่องเที่ยวและสิ่งดีดีนั้นอยู่ที่ไหน และมีข้อมูลบ้างนิดหน่อย พอที่จะพูดคุยกับคนอื่นได้บ้าง แต่น้อยคนนักที่ได้รู้จักกับสถานที่อย่างนั้นอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็น ปราสาทสด๊อกก๊อกธม ปราสาทเขาน้อยสีชมพู เขาฉกรรจ์ หรือแม้แต่อุทยานแห่งชาติปางสีดา ที่สมบูรณ์เพียบพร้อมไปด้วยความงดงามของธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพของสรรพสิ่งในผืนป่ากว่า 6 แสนไร่แห่งนี้ หากเป็นเช่นนี้ จะทำอย่างไรให้คนในจังหวัดหันกลับมาให้ความสนใจในทรัพยากรที่มีอยู่ ได้รู้ ได้สัมผัสอย่างแท้จริง อันจะนำไปสู่ความรัก หวงแหน รวมทั้งภูมิใจในของดีที่มีอยู่ สามารถพูดคุยกับคนอื่นได้อย่างเต็มความภาคภูมิ ว่านี่แหละ ”สระแก้ว” บ้านเราเอง

ก่อกำเนิด “รักษ์ปางสีดา”
ด้วยกระแสของจังหวัดใหม่ ที่มีผู้คนอพยพย้ายถิ่นเข้ามาทำงานมากมาย ส่วนคนท้องถิ่นโดยมากแล้วจะมาจากอีสานกันเกือบทั้งนั้น หากคิดจะทำอะไรแล้วก่อเกิดเป็นกระแสแห่งการอนุรักษ์ได้ น่าจะดีกว่าไม่ได้ทำอะไรซะเลย ผมจึงเพียรพยายามหาคนมาร่วมอุดมการณ์เดียวกัน ด้วยการจัดไปเดินป่าครั้งแรกที่ปางสีดา เมื่อปลายปี 2538 โดยมีทั้งอาจารย์จากโรงเรียนสระแก้ว เจ้าหน้าที่สาธารณสุข พนักงานการไฟฟ้าสระแก้ว ประมาณ 10 คน ลุยป่าระยะทาง 8 กม.ไปยังน้ำตกถ้ำค้างคาว
ทุกคนได้เห็น ได้สัมผัสธรรมชาติที่สวยงาม เลยมีการพูดถึงการรวมตัวตั้งเป็นกลุ่มอนุรักษ์ขึ้นมา เพื่อนำของดีอย่างนี้กลับไปบอกคนสระแก้วว่า “น้ำตกสวยๆ อย่างนี้ที่บ้านเราก็มี” พอกลับออกมาแล้วก็มีการนักพูดคุยกันอยู่หลายรอบ จนกระทั่งตกลงใจว่าเราพร้อมที่จะก่อกำเนิดเป็นกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในจังหวัดสระแก้ว ที่ชื่อว่า “รักษ์ปางสีดา”
พอกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2539 จึงได้จัดกิจกรรมแรกเป็นค่ายเล็กๆ นำนักเรียนโรงเรียนสระแก้ว เข้าไปเดินป่าที่น้ำตกถ้ำค้างคาวกันอีกครั้งหนึ่ง ให้น้องๆ ได้รู้จักการเดินป่าระยะไกล การดำรงชีวิตในป่า และการที่ได้เข้ามารู้จักธรรมชาติของโลกสีเขียวอันกว้างใหญ่ในบ้านของเขาเอง จากค่ายนี้เองจึงถือเป็นการเปิดตัวต่อสาธารณชน อย่างเป็นทางการของกลุ่มรักษ์ปางสีดา โดยมีเยาวชนค่ายนั้นเป็นสมาชิกรุ่นแรก และปัจจุบันเขาเหล่านั้นส่วนหนึ่ง ได้กลับเข้ามาช่วยงานเพื่อสานต่ออุดมการณ์ของกลุ่ม
จากความสำเร็จในค่ายแรก เราจึงได้พยายามหาทุนในการจัดค่าย ในลักษณะของการนำเยาวชนเข้ามาเรียนรู้เรื่องธรรมชาติผ่านห้องเรียนซึ่งเป็นป่าขนาดใหญ่ ให้เขาได้ซึมซับความบริสุทธิ์ของป่า กลับไปบอกต่อให้คนทางบ้าน และเพื่อนในโรงเรียน ซึ่งทำให้มีกระแสตอบรับกลับมาเป็นอย่างดี มีองค์กรอนุรักษ์ส่วนกลางและใกล้เคียงที่มองเห็นความตั้งใจของเรา อาสาเขามาช่วยงานอย่างเต็มกำลัง กระบวนการค่ายทั้งหมดเราต้องอาศัยเพื่อนร่วมอุดมการณ์เดียวกัน ในขณะเดียวกันเราก็ได้เรียนรู้การทำงานไปพร้อมๆกัน สมาชิกที่มาช่วยงานทุกคนต่างก็นับหนึ่งด้วยกันหมด ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ จนวันนี้เราได้ยืนด้วยลำแข้งตนเองได้อย่างเต็มภาคภูมิ

“เยาวชน” รากฐานสำคัญของสังคม
ท่ามกลางกระแสวิกฤติทางสังคม ทั้งการมั่วสุม ยาเสพติด เพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร และกับอีกหลายสิ่ง เรามีความเชื่อว่าสิ่งหนึ่งที่น่าจะช่วยเหลือเยาวชนให้หลุดพ้นจากวงจรนี้ได้ น่าจะเป็น “กิจกรรม” ที่ใครมักพูดกันว่า “กิจกรรมสร้างคน คนสร้างสังคม” รักษ์ปางสีดาก็มีความเชื่อที่ไม่ต่างกัน จึงได้ส่งเสริมบทบาทของเยาวชนในจังหวัด โดยเฉพาะที่เคยผ่านการร่วมกิจกรรมกลุ่ม อย่างงานค่าย นำกลับเข้ามาร่วมงานอีกครั้ง ในบทบาทของพี่เลี้ยงและคณะทำงาน ได้ฝึกการทำงานกิจกรรมช่วยเหลือสังคม ภายใต้กรอบกติกาของค่าย และการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงในการร่วมงานกับพี่และเพื่อน
รวมทั้งยังได้ส่งเสริมให้เขาได้แสดงออกทั้งด้านความคิดและการกระทำ ตามความสามารถของตนเอง และเหนือสิ่งอื่นใด เป็นการเสริมฐานการทำงานของกลุ่มให้ขยายโตขึ้น ในลักษณะของ “คนท้องถิ่นช่วยเหลือท้องถิ่นด้วยกันเอง” จากการทำงานที่ผ่านมา จึงได้สังเกตเห็นพัฒนาการของเยาวชนที่มาช่วยงานว่า เขามีความมั่นใจตนเอง นำความรู้ ความสามารถของตนเองมาใช้ให้เกิดประโยชน์ แล้วยังกล้าแสดงออกมากขึ้น ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการเข้าสังคม เพื่อจะได้เป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ ช่วยเหลือสังคมมากกว่าการเอาเปรียบสังคม

จากความตั้งใจและผลการทำงานที่ผ่านมา ทำให้กลุ่มรักษ์ปางสีดาได้รับการคัดเลือกจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ หรือ สยช. ให้ได้รับรางวัล “องค์กรผู้ทำคุณประโยชน์ต่อเยาวชน ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” โดยเข้ารับพระราชทานรางวัลจาก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เนื่องในวันเยาวชนแห่งชาติ 20 กันยายน 2544
รักษาธรรมชาติ-สิ่งแวดล้อม
การดำเนินงานในฐานะองค์กรด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทำให้กลุ่มฯ มีโอกาสเข้าไปร่วมทำงานกับอุทยานฯ ปางสีดาในหลายๆ เรื่อง เช่นหากมีเรื่องใดที่ทราบข่าวไม่ชอบมาพากลในเขตอุทยานฯ ที่ประชาชนและสมาชิกกลุ่มแจ้งมา เราก็แจ้งต่อไปยังอุทยานฯ เพื่อดำเนินการ หรือบางครั้งที่เราเข้าไปเที่ยวธรรมชาติในป่า แต่กลับไปเจอพวกหาไม้หอมโดยบังเอิญ ทำให้อุทยานฯและหน่วยงานฝ่ายต่างๆ เข้ามากวาดล้างขบวนการเหล่านี้จนหายไประยะหนึ่ง
เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่กลุ่มรักษ์ปางสีดา สามารถทำงานร่วมกับอุทยานฯ ได้ดีไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคสมัย ทำงานในลักษณะพี่น้อง มาเที่ยวอุทยานฯ ก็เหมือนกับมาบ้านของตนเอง รักอุทยานฯ ไม่ต่างไปจากเจ้าหน้าที่ จึงทำให้เราในฐานะประชาชนได้มีส่วนเข้าไปช่วยดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติของสระแก้ว ซึ่งไม่ใช่เป็นการอนุรักษ์เพียงครั้งคราว แต่เป็นการร่วมมืออนุรักษ์อย่างยั่งยืน
ในขณะที่คนในจังหวัด มาช่วยกันทำงานอนุรักษ์เพื่อซึมซับธรรมชาติและมิตรภาพของเพื่อนร่วมอุดมการณ์ ผ่านกระบวนการค่ายเยาวชนให้นักเรียนตามโรงเรียนต่างๆ ในจังหวัดสระแก้ว เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกและตระหนักในคุณค่า กว่าที่เมล็ดพันธุ์เหล่านี้จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง คงจะใช้เวลายาวนาน แต่กลุ่มรักษ์ปางสีดา ยังคงทำงานด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอื่นๆ อีก ไม่เฉพาะแต่ที่ปางสีดาเท่านั้น

อย่างงานส่งท้ายประเพณีสงกรานต์ของจังหวัดสระแก้ว ทุกวันที่ 19 เมษายนของทุกปี จะมีประเพณีการอัญเชิญรูปแกะสลักเจ้าพ่อพระปรง จากศาลฯ ที่ตั้งอยู่บริเวณริมถนนสุวรรณศรก่อนเข้ามายังจังหวัดสระแก้ว มาให้ประชาชนสรงน้ำเป็นประจำมานานหลายสิบปี ซึ่งเจ้าพ่อพระปรงถือว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่พึ่งทางใจของชาวจังหวัดสระแก้วมานาน ใครเดินทางผ่านที่ศาลฯ ต้องบีบแตรหรือยกมือไหว้เพื่อขอพรให้เดินทางปลอดภัย
การจัดขบวนแห่เจ้าพ่อไปในตลาดตัวเมืองสระแก้ว ระยะทาง 23 กม. จึงเป็นวันที่ประชาชนจากทั่วสารทิศแห่กันมาร่วมสรงน้ำ พร้อมๆ กับเล่นน้ำสงกรานต์กันอย่างสนุกสนานเต็มถนน แต่ที่ผ่านมาในช่วงระยะหลังประเพณีที่ดีงามกลับกลายมาเป็นความรุนแรง จากการใช้ขันสาดน้ำใส่กันเปลี่ยนไปเป็นใช้ถุงพลาสติกใส่น้ำสี น้ำแข็ง ขว้างปากัน และหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงในช่วงวันดังกล่าว นอกจากนี้ ถนนหนทางยังเต็มไปด้วยถุงพลาสติก ประชาชนเริ่มเอือมระอาถึงขนาดต้องปิดบ้านหนี เนื่องจากกลัวจะโดนถุงน้ำขว้างใส่
จนกระทั่งเมื่อปี 2540 กลุ่มรักษ์ปางสีดา จึงได้เข้ามามีบทบาทในการลดปัญหาต่างๆ และเพื่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีแก่จังหวัดสระแก้ว ด้วยการจัดการรณรงค์ไม่ให้ใช้ถุงพลาสติกใส่น้ำขว้างปากัน โดยประสานความร่วมมือไปยังตำรวจ หน่วยกู้ภัย อำเภอ เทศบาลที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์จังหวัด และสถานีวิทยุท้องถิ่น เพื่อร่วมมือกันจัดการกับปัญหานี้ และได้รับความร่วมมือจากประชาชนเป็นอย่างดีตลอดเวลา 5 ปี ทำให้งานแห่เจ้าพ่อพระปรงทุกวันนี้ จำนวนอุบัติเหตุจากการจราจรลดลง ประชาชนหันมาเล่นน้ำสงกรานต์ด้วยความสบายใจ ไม่มีถุงพลาสติกเกลื่อนเมืองให้เห็นอีกต่อไป
“คนสระแก้ว” ต้องเที่ยว “สระแก้ว”
อย่างที่ผมได้บอกไว้ว่า “คนสระแก้วเอง น้อยคนที่ได้มีโอกาสเที่ยวดูสิ่งดีดีในจังหวัดตัวเอง” เพราะส่วนใหญ่จะไปแบบผิวเผิน ไปกินส้มตำหรือเปลี่ยนที่กินเหล้าซะมากกว่าไปซึมซับความประทับใจ ได้ความรู้ รวมทั้งเรียนรู้ไปกับการเที่ยว ที่เขาเรียกกันว่า “ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ”
ในเมื่อน้อยคนที่มีโอกาสอย่างนี้ เราจึงพยายามทุกวิถีทางที่จะให้คนสระแก้ว หันมาเที่ยวสระแก้วเองก่อนที่จะไปบอกคนอื่นให้มาเที่ยว ด้วยการนำภาพสวยๆ มาจัดเป็นนิทรรศการแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัด ทำเป็น ส.ค.ส. และนำเขาเหล่านั้นไปสัมผัสด้วยตัวเอง อย่างการจัดกิจกรรมเดินป่าในปางสีดาและผืนป่าอื่นๆ ในสระแก้ว ให้กับกลุ่มเยาวชนและคนที่สนใจ การสำรวจธรรมชาติเพื่อค้นหาน้ำตกใหม่ๆ มาส่งเสริมเป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่ผ่านมาก็มีทั้ง น้ำตกลานแก้ว น้ำตกด่านช้าง น้ำตกด่านกระทิง น้ำตกคลองตีนช้าง เป็นต้น แล้วเรายังได้ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนตำบลช่องกุ่ม อำเภอวัฒนานคร เพื่อสำรวจและวางแผนจัดการ ประชาสัมพันธ์เขื่อนพระปรงให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัด
ซึ่งเราได้จัดกิจกรรมเผยแพร่ในลักษณะต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งในรายการวิทยุ “คลื่นนี้สีเขียว” กับกลุ่มรักษ์ปางสีดา ทางสถานีวิทยุ สวท.สระแก้ว ทุกเช้าวันเสาร์ รายการสารคดีท่องเที่ยวทางโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ส่วนกลางและท้องถิ่น จดหมายข่าวของกลุ่ม โดยเฉพาะนิทรรศการ ทำให้เราได้มีโอกาสพูดคุยกับประชาชนว่าเขามีความรู้สึกกับสระแก้วอย่างไร ได้เห็นเขาชื่นชมกับสิ่งดีดีในจังหวัดที่เรานำเสนอ
“ ไม่น่าเชื่อเลยนะ ว่าบ้านเราจะมีน้ำตกสวยๆ อย่างนี้ ”
“ ผมจะไปเที่ยวที่นี่ได้ยังไง?”
“ จะพาครอบครัวไปเที่ยว มีที่พักบ้างไหม?”
เป็น คำถามที่ได้ยินบ่อยที่สุด นั่นแหละครับคือความภูมิใจ ที่เราคนท้องถิ่นเองได้มีโอกาสบอกคนในจังหวัดด้วยกันเองว่า “บ้านเรายังมีอะไรดีดีอยู่อีกเยอะ เที่ยวบ้านเราเถอะ”

“อาณาจักรนกอ้ายงั่ว” การค้นพบที่ยิ่งใหญ่
กันยายน 2543 หนังสือพิมพ์ข่าวสดลงเรื่องการค้นพบอาณาจักรอ้ายงั่ว รวมไปถึงนิตยสารถ่ายภาพ นิตยสารเกี่ยวกับนก จดหมายข่าวสมาคมฯ อินเตอร์เน็ต โทรศัพท์อีกมากมาย รวมทั้งนักปักษีวิทยา และสมาชิกของสมาคมอนุรักษ์นกแห่งประเทศไทยทั่วประเทศ ที่ต่างตกตะลึงกันใหญ่เมื่อข่าวนี้ถูกแพร่ออกไป
หลายคนบอกว่า แทบไม่น่าเชื่อเลยว่าจะได้พบเห็นเจ้านกชนิดนี้ในธรรมชาติ ด้วยจำนวนที่มากมายขนาดนี้ เลยพากันเดินทางมาจังหวัดสระแก้วให้เห็นด้วยตา
เพราะ นกอ้ายงั่ว (Oriental darter) มันไม่ค่อยจะมีอยู่ในธรรมชาติให้เราเห็นแล้ว หรือจะมีให้เห็นบ้างก็ครั้งละ 1-2 ตัว แต่ที่ผืนป่าบ้านลุงสน สรจันทร์แดง ชาวบ้านคลองมะละกอ ต.สระขวัญ อ.เมืองสระแก้ว เราได้เห็นโดยไม่ต้องไปซุ่มดู อย่างน้อย 50 ตัวในปีแรกที่ค้นพบ จนมาเป็น 100 ตัวในปีถัดมา และปี 2545 อ้ายงั่วก็กลับมาอีกครั้งในจำนวนที่มากกว่า 60 ตัว ไม่ธรรมดาใช่ไหมครับ เพราะเจ้านกตัวนี้เป็นนกน้ำขนาดใหญ่ที่หายากและมีสถานะใกล้สูญพันธุ์ไปจากประเทศไทย ปัจจุบันเห็นกันอยู่ตามป่าอย่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จ.ชัยภูมิ หรืออุทยานฯเขาใหญ่ หลังสุดเมื่อปี 2533 ที่วัดตาลเอน จ.อยุธยา โดยไม่มีใครพบเห็นรังและลูกของนกอ้ายงั่วมากก่อนเลย
งานนี้ต้องขอบคุณ อ.ชินวัตร น้ำทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเขาข่า อ.เมืองสระแก้ว สมาชิกกลุ่มที่ได้นำเรื่องแหล่งอาศัยของนกน้ำจำนวนมากมาบอกกลุ่มฯ จนเราต้องลงไปสำรวจเพื่อแยกชนิด แล้วนำข่าวมาบอกที่สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย จนกระทั่งเป็นข่าวโด่งดังไปทั่ว ทำให้นักดูนกและสื่อมวลชนที่สนใจแห่กันเข้าไปเฝ้าดูอ้ายงั่วเป็นจำนวนมาก แล้วยังมีนักดูนกจากทั่วประเทศที่ถามข่าวเรื่องนกตัวนี้มาทางผมอยู่เป็นประจำ
เริ่มแรกของการค้นพบ ชาวบ้านแถวนั้นยังไม่รู้จักว่านกอะไร สำคัญอย่างไร กลุ่มฯ จึงประสานกับหน่วยราชการและชุมชนเพื่อจัดค่ายเด็ก ชุมชน คนรักนกบ้านคลองมะละกอ ขึ้นเป็นครั้งแรก นำนักเรียนจากโรงเรียนบ้านคลองมะละกอและโรงเรียนบ้านเขาข่าที่ตั้งอยู่ใกล้บริเวณนั้น มาจัดเข้าค่ายให้ความรู้เรื่องการดูนกแล้วจึงพาไปดูที่สวนนกอ้ายงั่ว โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว (นายสมชาย ชุ่มรัตน์) มาเป็นประธาน มีหน่วยงานระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล เข้ามา จัดอย่างนี้มาเป็นประจำ เพื่อสร้างกระแสนกอ้ายงั่วที่สระแก้วอย่างต่อเนื่อง และประชาสัมพันธ์บอกประชาชนในจังหวัดและทั่วประเทศว่า “นกหายากนะ อย่าไปยิงมากินนะ” และหวังว่านกตัวนี้น่าจะเป็นความภูมิใจของชาวสระแก้ว พร้อมทั้งร่วมกันอนุรักษ์เอาไว้

รักป่าเขา รักบ้านเรา รักษ์ปางสีดา
จากการทำงานด้วยใจรักในธรรมชาติและบ้านเกิด ของคนกลุ่มหนึ่งชื่อ “รักษ์ปางสีดา”
การทำงานด้วยความเสียสละตลอด 6 ปีที่ผ่านมา รางวัลที่ได้รับมากมายเป็นเพียงกำลังใจให้เราได้ก้าวไป ด้วยความมั่นคง สมาชิกหลากหลายสาขาอาชีพ และการทำงานด้วยหยาดเหงื่อแรงงาน ด้วยใจที่ทุ่มเท และข้อจำกัดเรื่องทุนในการดำเนินงาน คุณภาพของงานมากกว่าปริมาณเยาวชนที่เข้าค่าย รวมทั้งภาระหน้าที่งานประจำของสมาชิกแต่ละคน เพียงเพื่อหวังให้ประชาชนในจังหวัดสระแก้ว หันมาสนใจให้ความรักและภูมิใจในบ้านของตนเอง อาสาเข้ามาช่วยเหลืองานสังคมตามกำลังที่ทำได้ เพื่อให้ “สระแก้ว” เป็นเมืองที่น่าอยู่ ผู้คนน่ารัก ดั่งเช่นวิสัยทัศน์ของจังหวัดที่ตั้งไว้
เรามั่นใจว่า วันนี้ “เมล็ดพันธุ์แห่งการอนุรักษ์” ของรักษ์ปางสีดา ได้เติบโต งอกงาม กระจายอยู่ทั่วจังหวัดสระแก้ว พร้อมที่จะปกป้องรักษาบ้านเกิด ดังคำขวัญที่ว่า
“รักป่าเขา รักบ้านเรา รักษ์ปางสีดา”